อามุลฟีล (عام الفيل)
[ 1 - ปัจจุบันคือบริเวณประเทศซูดานจนถึงประเทศโซมาเลีย ในอดีตเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มีกษัตริย์ที่มีอำนาจและร่ำรวยทรัพยากร]
[ 2 - ระหว่างซูดานกับเกาะอาหรับมีทะเลกั้น แบ่งแยกสองสถานที่นี้ ]
แผนที่คาบสมุทรอาหรับสมัยก่อน
ศาสนายะฮูดียฺเคยแพร่หลายในเยเมนก่อนท่าน นะบีเกิดประมาณ 300 ปี จนกระทั่งอำนาจของยิวกระจายทั่วประเทศเยเมน และผู้นำของประเทศเยเมนก็เป็นยิว ภายหลังเมื่อศาสนาคริสต์ (เป็นศาสนาคริสต์ (นะซอรอ) ที่ยึดในศาสนาที่ถูกต้องก่อนบิดเบือน) เข้ามาเผยแผ่ในประเทศเยเมนก็ถูกต่อต้านจากผู้นำยิว โดยนำนะซอรอผู้ศรัทธาไปเผาในหลุมใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบุรูจญฺ
وَالسَّمَاء ذَاتِ الْبُرُوجِ * وَالْيَوْمِ الْمَوْعُودِ * وَشَاهِدٍ وَمَشْهُودٍ
* قُتِلَ أَصْحَابُ الْأُخْدُودِ * النَّارِ ذَاتِ الْوَقُودِ
ความว่า : “ขอสาบานด้วยชั้นฟ้าที่เกลื่อนกลาดด้วยดวงดาว และด้วยวันที่ถูกสัญญาไว้ และด้วยผู้เป็นพยานและผู้ถูกเป็นพยาน บรรดาเจ้าของหลุมพรางถูกสาปแช่ง ไฟที่เต็มไปด้วยเชื้อเพลิง”
หลุมไฟนี้คือหลุมขนาดใหญ่มากที่ผู้นำยิวสั่งให้ขุดและจุดไฟขึ้นในหลุมนั้น แล้วให้ชาวนะซอรอที่ศรัทธาลงไปในหลุม แต่หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นผู้คนกลับศรัทธาในศาสนาคริสต์อย่างกว้างขวาง จนกระทั่งกษัตริย์โรมันส่งบุคคลไปสนับสนุนชาวคริสต์ที่เยเมน
ในสมัยนั้นมีคนหนึ่งมาจากเมืองหะบะชะฮฺชื่อ อับรอฮะฮฺ เป็นแม่ทัพถูกส่งมาจากกษัตริย์ของประเทศหะบะชะฮฺเพื่อยึดครองประเทศเยเมน เมื่อยึดครองได้แล้วก็ก่อตั้งเมืองหลวง ซึ่งมีโบสถ์ที่สร้างอย่างใหญ่โตและสวยงาม อับรอฮะฮฺซึ่งเป็นคริสต์มีวัตถุประสงค์ในการสร้างโบสถ์เพื่อให้ชาวอาหรับที่บูชาเจว็ดทิ้งการบูชาเจว็ดมาเข้าศาสนาคริสต์ แต่อย่างที่บอกว่าชาวอาหรับไม่ชอบให้ใครมาเป็นนาย มีชาวอาหรับชนบทคนหนึ่งไม่พอใจที่จะให้โบสถ์มาแข่งขันกับกะอฺบะฮฺซึ่งเป็นอาคารอันศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของอาหรับ[3] จึงมีอาหรับคนหนึ่งเข้าโบสถ์ทำทีว่าจะไปบูชาสักการะ แต่กลับไปปัสสาวะอุจจาระในโบสถ์ พวกที่ดูแลโบสถ์เมื่อรู้ว่าอาหรับจากกะอฺบะฮฺมาทำลายโบสถ์จึงไปแจ้งอับรอฮะฮฺ อับรอฮะฮฺบอกว่าต้องแก้แค้น เมื่อพวกอาหรับเชื่อว่ากะอฺบะฮฺเหนือกว่าทุกอาคาร ฉันก็จะทำลายกะอฺบะฮฺเสีย
[ 3 - เมื่อก่อนอาหรับทั้งหมดเมื่อถึงช่วงฮัจญฺก็จะมาทำฮัจญฺ แต่ฮัจญฺของเขาประกอบด้วยการบูชาเจว็ด อาคารกะอฺบะฮฺถูกล้อมด้วยรูปเจว็ด 300 กว่าตัว ]
อับรอฮะฮฺยกกองทัพช้างจากหะบะชะฮฺเป็นสิบๆ ตัวเพื่อจะมาบุกมักกะฮฺและทำลายกะอฺบะฮฺให้พัง แต่เมื่อมาถึงขอบเขตดินแดนอัลหะรอม[4] ก่อนจะเข้า อัลลอฮฺได้ทรงส่งนกชนิดหนึ่ง(ในอัลกุรอานเรียกว่า ฏ็อยร็อนอะบาบีล)มาหลายฝูง โดยเอาหินไฟจากนรกมาขว้างช้างและกองทัพของอับรอฮะฮฺ เหตุการณ์นี้ถูกระบุในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลฟีล
[ 4 - เขตเมืองมักกะฮฺแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่อยู่บริเวณมัสยิดหะรอมเรียกว่า อัลหะรอม (หมายถึง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ต้องห้าม) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านนะบีอิบรอฮีมกำหนดไว้ว่าเป็นสถานที่ห้ามล่าสัตว์ ห้ามทำลายต้นไม้ ห้ามมีการอธรรมต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จนกระทั่งอาหรับเคารพคำสั่งของท่านนะบีอิบรอฮีมตลอดทุกยุคทุกสมัย บางคนเจอผู้ที่ฆ่าบิดาของเขาในหะรอมก็ไม่ทำอะไร ]
أَلَمْ تَرَ كَيْفَ فَعَلَ رَبُّكَ بِأَصْحَابِ الْفِيلِ * أَلَمْ يَجْعَلْ كَيْدَهُمْ فِي تَضْلِيلٍ * وَأَرْسَلَ عَلَيْهِمْ طَيْراً أَبَابِيلَ * تَرْمِيهِم بِحِجَارَةٍ مِّن سِجِّيلٍ *
جَعَلَهُمْ كَعَصْفٍ مَّأْكُولٍ
ความว่า : “เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่าพระเจ้า ของเจ้าได้กระทำกับพวกเจ้าของช้างอย่างไร พระองค์มิได้ทรงทำให้แผนการของพวกเขาสูญสิ้นดอกหรือ และได้ทรงส่งนกเป็นฝูง ๆ ลงมาบนพวกเขา มันได้ขว้างชาวช้างด้วยหินที่ทำด้วยดินแข็ง แล้วพระองค์ทรงทำให้พวกเขาเป็นเช่นใบไม้ที่ถูก(สัตว์)กิน” [อัลฟีล 105:1-5]
การทำสงครามระหว่างอัลลอฮฺกับชาวช้าง ทำให้พวกเขาเปรียบเสมือนหญ้าที่แห้งคือถูกทำลายไป ทหารและช้างในกองทัพส่วนมากตายไป คนรับจ้างเป็นผู้จูงช้างคนหนึ่งโดนหินจนตาบอด กลับบ้านไม่ได้ต้องอยู่ที่มักกะฮฺ ภายหลังชาวมักกะฮฺได้พบกับชายคนนี้และมีหะดีษบันทึกว่า เขาได้ทันเจอคนจูงช้างคนหนึ่งตาบอดขอทานตามถนนที่มักกะฮฺ นั่นคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปีนั้น ซึ่งในธรรมเนียมของอาหรับก่อนศาสนาอิสลามจะบันทึกประวัติของเขาด้วย เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกปี สมมติปีนี้มีหัวหน้าผู้นำใหญ่ที่สุดเสียชีวิต ก็จะเรียกว่าเป็นปีเสียชีวิตของคนนั้น ปีนี้ช้างมาจากเยเมนบุกกะอฺบะฮฺและอัลลอฮฺได้จัดการมัน เขาก็เรียกว่า “อามุลฟีล – ปีแห่งช้าง” หมายถึงว่าเป็นปีที่เห็นช้างมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะในเกาะอาหรับไม่มีช้าง
อามุลฟีลเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สร้างบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ชาวกุเรชในเกาะอาหรับ เพราะทำให้ชาวอาหรับคิดว่าเมื่ออัลลอฮฺช่วยพวกกุเรชเจ้าของเมืองมักกะฮฺ แสดงว่าพวกนี้ต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ ชาวอาหรับทั้งปวงจึงเคารพและให้เกียรติชาวกุเรชด้วยเหตุการณ์นี้ ซึ่งในช่วงนั้นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในเมืองมักกะฮฺก็คือ อับดุลมุฏฏอลิบ ปู่ของท่านนะบี
อับดุลมุฏฏอลิบเป็นคนหนึ่งที่ออกไปเจรจากับอับรอฮะฮฺและเตือนไม่ให้เข้าไปทำลายกะอฺบะฮฺ แต่เมื่อถูกปฏิเสธก็ได้พูดกับอับรอฮะฮฺว่า “เมื่อท่านไม่กลับ และยืนยันจะเข้าไปมักกะฮฺ ฉันก็ไม่ขอยุ่งเกี่ยว” (เพราะชาวอาหรับเชื่อว่าใครที่มีเจตนาจะทำลายกะอฺบะฮฺ อัลลอฮฺจะทำลายเขา) เขาจึงขออูฐของเขาที่อับรอฮะฮฺได้ยึดไปคืน อับรอฮะฮฺแปลกใจและพูดกับเขาว่า “ท่านประหลาดจริง ๆ ฉันกำลังจะมุ่งหน้าไปทำลายสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของท่าน แล้วท่านจะมาขออูฐของท่านจากฉันหรือ” อับดุลมุฏฏอลิบบอกว่า “สำหรับอูฐ ฉันเป็นเจ้าของ ฉันต้องดูแล แต่สำหรับกะอฺบะฮฺมีเจ้าของดูแล ฉันไม่เกี่ยว” (ชาวอาหรับเชื่อว่ากะอฺบะฮฺเป็นบัยตุลลอฮฺตั้งแต่สมัยท่านนะบีอิบรอฮีม) อับดุลมุฏฏอลิบจึงสั่งเผ่ากุเรชและลูกหลานเครือญาติให้ออกจากมักกะฮฺ เพราะเมื่ออับรอฮะฮฺเข้ามาต้องมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น พวกกุเรชหลบหนีไปอยู่ตามถ้ำและภูเขานอกเมือง เมื่ออับรอฮะฮฺบุกมา ยังไม่ทันเข้าขอบเขตอัลหะรอมนกก็มาจัดการเรียบร้อย
ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นี้เกิดก่อนสมัยท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ก็นับเป็นมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง[5] เหตุการณ์ของชาวช้างนี้อุละมาอฺบางท่านบอกว่าเกิดขึ้นก่อนท่านนะบีเกิด 3 ปี บางท่านบอกว่าเกิดขึ้นในปีที่ท่านนะบีเกิด และอุละมาอฺหลายท่านให้น้ำหนักในทรรศนะหลังนี้ อุละมาอฺนักประวัติศาสตร์หลายท่านจึงบอกว่าท่านนะบีเกิดในปีอามุลฟีล
[ 5 - อุละมาอฺแบ่งมหัศจรรย์ (มัวอฺญิซาต) ก่อนที่ท่านนะบีเกิด หรือก่อนที่ท่านจะเป็นนะบี เรียก อิรฮาศ (إرهاص) แปลว่า มหัศจรรย์ แต่เป็นมหัศจรรย์เพื่อต้อนรับยุคที่จะมีนะบีมาเทศนา แต่เมื่อมีนะบีแล้วและนะบีใช้มหัศจรรย์เรียกร้องสู่พระผู้เป็นเจ้า ก็จะเรียกว่า มัวอฺญิซาต, อิรฮาศ หมายถึง เตรียม ส่วน มัวอฺญิซาต หมายถึง มหัศจรรย์ที่ทำให้ผู้เห็นมหัศจรรย์ยอมแพ้ ยอมรับ ทำไม่ได้ ต้องเป็นพระเจ้าเท่านั้นที่ทำอย่างนี้ ]
เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์นี้เราจะได้บทเรียนสำคัญคือ การเผยแผ่สัจธรรมเป็นโครงการยิ่งใหญ่ที่มีความสำคัญ ณ อัลลอฮฺ จึงต้องมีการเตรียมให้บรรยากาศการเผยแผ่ศาสนามีสิ่งเอื้ออำนวยให้ผู้เผยแผ่มีความสะดวก เหตุการณ์อามุลฟีลเกิดขึ้นเพื่อให้ทั่วเกาะอาหรับต้องมุ่งความสำคัญมาที่กะอฺบะฮฺ ชาวคริสต์จำนวนมากยกทัพมาในขณะที่พวกอาหรับไม่มีความสามารถที่จะต่อสู้ได้เลย แต่อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือ ตรงนี้เป็นเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ทำให้คนสมัยนั้นต้องตระหนักว่า เมืองนี้มีความสำคัญที่ทุกคนต้องมุ่งความสนใจเปรียบเสมือนเป็นการโฆษณาว่าเมืองนี้จะต้อนรับเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ เพราะอัลลอฮฺทรงป้องกันมักกะฮฺไม่ให้มีศาสนาอื่นมายึดครองเป็นอาณานิคมของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อรักษาอิสลามอันเป็นศาสนาอันบริสุทธิ์ของมักกะฮฺ[6]
[ 6 - ถ้าหากอับรอฮะฮฺเข้าพิชิตได้และพวกคริสต์เข้ามักกะฮฺแล้ว เมื่อนะบีเกิดที่อาหรับ พวกตะวันตกก็อาจบอกว่าพวกคริสต์เข้ามาทำให้มักกะฮฺเจริญแล้วมุฮัมมัดเรียนมาจากคริสต์ ภายหลังนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกรายงานว่าท่านนะบีรู้จักทาสเด็กที่เป็นยิวคนหนึ่ง นี่เป็นหลักฐานว่าศาสนาอิสลามมีรากฐานเดิมมาจากยิว และพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่เปลี่ยนแปลงสภาพโลกนี้ ท่านนะบีเรียนมาจากเด็กยิวคนนี้ เขาผูกเรื่องอะไรก็ได้เพื่อทำลายท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม]
อัลลอฮฺทรงรักษาให้มักกะฮฺมีเอกราช เป็นเมืองของอาหรับที่ยังอยู่ในความมืดแห่งการไหว้รูปเจว็ดและวัตถุต่าง ๆ ซึ่งเมื่อท่านนะบีเกิดและประกาศสัจธรรม ทุกคนก็จะรู้ว่านี่ต้องเป็นสัจธรรมเพราะออกมาจากความมืด นั่นเป็นเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นก่อนที่ท่านนะบีจะเกิดซึ่งให้บทเรียนแก่เรา
การกำเนิดของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ท่านอับดุลมุฏฏอลิบมีลูกหลาน 10 หรือ 11 คน คนโตชื่ออบูฏอลิบ คนสุดท้องชื่ออับดุลลอฮฺ เมื่ออับดุลลอฮฺอายุประมาณ 20 กว่าปีได้แต่งงานกับอะมีนะฮฺ บินตุวะฮบฺ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องตระกูลเดียวกัน เมื่อแต่งงานกันแล้วอับดุลลอฮฺได้ออกไปทำธุรกิจนอกเมืองมักกะฮฺ (บางริวายะฮฺรายงานว่าเมืองชาม บ้างก็ว่าประเทศเยเมน แต่โดยสรุปคือมีรายงานว่าไปนอกมักกะฮฺ) แล้วเสียชีวิตก่อนที่ท่านนะบีจะเกิด
(ส่วนเรื่องของเมาลิดนะบี อุละมาอฺนักภาษาอาหรับบอกว่า คำว่า “เมาลิด” เป็นศัพท์เกี่ยวกับสถานที่หมายถึง ที่กำเนิด แต่ถ้าหากเป็นเวลากำเนิดจะใช้คำว่า มีลาด (ميلاد) เพราะฉะนั้นคำว่า “คริสตศักราช” ในภาษาอาหรับจึงเรียกว่า “มีลาดุลมะซีหฺ” หมายถึง เวลาเกิดของท่านนะบีอีซา ดังนั้น เวลาเกิดของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเรียกว่า “มีลาด” แต่คนที่ไม่มีความรู้ใช้คำว่า “เมาลิดนะบี” ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักภาษา)
การกำเนิด ของท่านนะบีมีรายงานมากมายทั้งจริงและเท็จ ส่วนมากถูกแต่งขึ้นในยุคหลังที่เริ่มมีเมาลิดแล้วเพื่อดึงความสนใจของชาวบ้าน เช่นที่บอกว่าท่านนะบีเกิดโดยทำคิตานแล้วนั้นไม่มีรายงานชัดเจน แต่มีหะดีษที่บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรียฺว่าท่านนะบีอิบรอฮีมทำคิตานเมื่ออายุ 80 ปี เป็นมนุษย์คนแรกที่ทำคิตานด้วยคำบัญชาจากอัลลอฮฺ ดังนั้นการที่ท่านนะบีเกิดโดยทำคิตานแล้วหรือไม่ได้ทำจึงไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญมากมาย
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกเกาะอาหรับ เช่น แผ่นดินไหวจนระเบียงของราชวังเปอร์เซียพัง, น้ำในมหาสมุทรแห่งหนึ่งแห้งแล้ง เหตุการณ์เหล่านี้มีรายงาน แต่สายสืบค่อนข้างใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรนำมาเป็นสาระยืนยันในมหัศจรรย์ต่าง ๆ เพราะเรื่องจริงที่มีสายสืบเศาะฮี้ฮฺจะสร้างความเข้มแข็งในการอีหม่านต่อท่านนะบี แต่เรื่องเท็จจะไม่สร้างอีหม่านให้เกิดขึ้น
เหตุการณ์กำเนิดท่านนะบีมีเรื่องเดียวที่น่าสนใจและมีสายสืบเศาะฮี้ฮฺ คือมารดาของท่านนะบีได้เล่าว่าขณะที่กำลังคลอดท่านนะบี นางถูกถามว่าเห็นอะไร นางตอบว่าขณะที่คลอด ฉันเห็นแสงสว่างกระจายอยู่ทั่วห้อง
การกำเนิดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม